เดียร์ วทันยา หนุน อาเซียนเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034 ชี้เป็นความท้าทายของประเทศสมาชิก แต่หากทำได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว ยกระดับอาเซียนในเวทีฟุตบอลโลก ล่าสุด อาเซียนได้ประกาศจับมือเสนอตัวอาเซียนเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034 ที่เกิดขึ้นในการประชุมอาเซียนซัมมิท ทำให้เดียร์เชื่อว่าแฟนบอลอีกหลายคนคงต้องดีใจและเห็นด้วยเป็นพิเศษ

เพราะฟุตบอลโลกนอกจากจะเป็นความฝันสูงสุดของวงการฟุตบอลทีมชาติแล้ว แต่การจัดงานยังช่วยกระตุ้นระบบหมุนเวียนเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและยาวให้กับประเทศได้อีกด้วย เป็นการยกระดับกลุ่มอาเซียนให้เป็นที่รู้จักในเวทีระดับโลก แต่เป้าหมายจะไปได้ถึงหรือไม่ นับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ก็คงเหมือนกับเข้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ต้องรับบทหนักมากมายกว่าจะมาถึงการได้เป็นเจ้าภาพบอลโลกชาติอาหรับแรกในปี 2022 นี้ แต่ถึงแม้ว่ามันยากแค่ไหน ก็ไม่หวั่น เพราะมันคือความใฝ่ฝันของชาติทุกชาตินั่นเอง

หากประเทศอาเซียนได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2034 ตามที่คาดจริงๆ มันจะเป็นความท้าทายใหม่อย่างยิ่งที่มันจะเกิดในประเทศของเรา โดยเฉพาะ

ตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจ

จากตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะได้รับเทียบกับมูลค่าการลงทุน หากเราดูกรณีตัวอย่างเจ้าภาพในรอบ 3 ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่าทั้งกรณีของแอฟริกาใต้ บราซิลและรัสเซีย ต่างล้วนอยู่ในสภาวะที่ผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งมาจากสาเหตุหลัก ทั้ง 3 ประเทศล้วนมีต้นทุนการก่อสร้างสนามแข่งขัน และพื้นฐานสาธารณูปโภคด้านอื่นๆ ที่สูงมาก โดยเฉพาะหากเราลองย้อนดูเมื่อครั้งที่ เยอรมันเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2006 ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการการกอบโกยรายได้เข้าประเทศเพราะมีความพร้อมอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับทั้งสองประเทศที่งบประมาณก่อสร้างบานปลาย มีปัญหาคอร์รัปชั่นเกิดขึ้น จนสร้างสนามเสร็จในวินาทีสุดท้ายก่อนพิธีเปิด

ความมีเอกลักษณ์ของประเทศ

เรายังคงเชื่อมั่นอยู่เสมอว่า ประเทศอาเซียนมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ไม่มีใครในโลกนี้เลียนแบบได้ ความเป็นเอกภาพของประเทศอาเซียน การร่วมกันจัดงาน ยกตัวอย่างงานพิธีเปิดปิด ฟุตบอลโลกที่จะถือเป็นไฮไลท์สำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เรามีมาตรการอย่างไรในการคัดเลือกประเทศที่มีความพร้อมมากที่สุดเป็นเจ้าภาพ ซึ่งหากดูความพร้อมสนามปัจจุบันที่ต้องมีจำนวนที่นั่งอย่างน้อย 80,000 ที่นั่งตามกำหนดของฟีฟ่า ก็ดูเหมือนจะมีเฉพาะ 2 ประเทศในอาเซียนที่มีความพร้อม ปัจจุบันคือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพราะสนามรัชมังคลาของไทยนั้นสามารถจุคนได้เพียง 49,000 คน เท่านั้น ดังนั้นหากไทยต้องการคว้าพิธีเปิด หรือปิดฟุตบอลโลก มาจัดเองก็ต้องมีการลงทุนกับสนามแข่งเพิ่มเติม

เดียร์ วทันยา ระบุเพิ่มเติมว่า ยังมีความท้าทายอีกหลายจุดโดยเฉพาะในการเตรียมทีมชาติเพื่อให้ทัดเทียมกับนานาชาติให้ได้ หากอาเซียนต้องการเป็นเจ้าภาพจริง การพัฒนาวงการกีฬาฟุตบอลคงต้องทุ่มเทความสำคัญนับว่าเป็นวาระหลักของประเทศเลยก็ว่าได้ ส่วนจะคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหนนั้นคงอยู่ที่ความสามารถของรัฐบาลที่จะวางแผนควบคุมต้นทุนได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังเช่นในกรณีของประเทศบราซิล แต่ที่แน่ๆ คือ การลงทุนครั้งนี้ มีสิ่งหนึ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ คือ ความสุข ความภูมิใจของแฟนบอลอาเซียน และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือความสามัคคีของคนในชาติที่สามารถสร้างได้ด้วยกีฬา